6 แลนด์มาร์คสำคัญเมืองลพบุรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ

6 แลนด์มาร์คสำคัญเมืองลพบุรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ

ทำเอาคนไทยติดกันทั้งบ้านทั้งเมืองกับละครน้ำดี ‘บุพเพสันนิวาส' ที่เดินเรื่องด้วยอ้างอิงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่นอกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ลพบุรีก็ถือเป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญในยุคนั้นเช่นกัน วันนี้เราจะพาทุกคนไปดู 6 แลนด์มาร์คที่สำคัญในเมืองลพบุรี จะมีที่ไหนบ้างไปดูกันเลย

สถานที่สำคัญในเมืองลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ


ลพบุรี หรือ เมืองละโว้ในสมัยก่อน เป็นเมืองแห่งความหลากหลายและต่อเนื่องทางวัฒนธรรมมายาวนานกว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยทวาราวดี (พ.ศ. 1100-1600) ที่ลพบุรีตกอยู่ใต้อำนาจของมอญและขอมมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 ที่คนไทยเริ่มมีอำนาจในดินแดนนี้ หลังจากนั้นมาเมืองลพบุรีได้ลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2213) ที่ทรงสร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่สอง เรียกได้ว่าทรงประทับอยู่ที่เมืองลพบุรีมากกว่ากรุงศรีเสียอีก และโปรดให้ทูตและชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพระองค์ที่เมืองนี้หลายครั้ง

6 แลนด์มาร์คสำคัญเมืองลพบุรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ

พระนารายณ์ราชนิเวศน์


พระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือที่ชาวลพบุรีเรียกกันว่า "วังนารายณ์" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีพระนารายณ์ฯ โปรดฯ ให้สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2209 สำหรับใช้เป็นที่ประทับ ณ เมืองลพบุรี โดยมีเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่ เป็นลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย

พระราชวังมีซุ้มประตูทั้งหมด 11 ซุ้ม ซึ่งมีอยู่ซุ้มหนึ่งที่ตั้งชื่อว่า ประตูพยัคฆา ชื่อนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติให้กับ พระเจ้าเสือ ในเหตุการณ์ยึดอำนาจพระนารายณ์ฯ นั่นเอง หลังจากที่สิ้นแผ่นดินพระนารายณ์ฯ พระราชวังแห่งนี้ก็ถูกปล่อยให้ทรุดโทรม จนกระทั่งปีพ.ศ.2399 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ได้ทรงโปรดให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ ทั้งในส่วนของกำแพงเมือง, ป้อม และประตู รวมทั้งมีการสร้างพระที่นั่งวิมานมงกุฎในพระราชวัง พร้อมพระราชทานนามพระราชวังว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์" ในปัจจุบัน

6 แลนด์มาร์คสำคัญเมืองลพบุรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ

พระปรางค์สามยอด


เมื่อแม่การะเกดได้เห็นพระปรางค์สามยอดก็รำพึงรำพันขึ้นมาว่า "พระปรางค์สามยอด งามเหลือเกิน ศิลปะขอมนะคะเนี่ย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งเกือบ 400 ปีมาแล้ว องค์กลาง พระพุทธรูปปรางนาคปรก องค์ทางขวา พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร องค์ทางซ้าย นางปรัชญาปารมิตา ยอดพระปรางค์คล้ายฝักข้าวโพดมีกลีบขนุน"

ปรางค์สามยอดเป็นรูปแบบของศิลปะที่นิยมมากในศิลปบายลของกัมพูชา โดยเฉพาะงานสภาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สอดคล้องกับรูปแบบของพระพิมพ์รูปปรางสามสามยอดที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี สร้างด้วยหินศิลาแลงเขมร เรียงต่อกัน 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน ที่ในอดีตภายในแต่ละยอดจะประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องนาคปรก และพระนางปรัชญาปารมิตา แต่ในปัจจุบันเหลือไว้เพียงแค่เสาประดับกรอบประตูแกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตูศิลปะเขมร

6 แลนด์มาร์คสำคัญเมืองลพบุรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ

พระที่นั่งไกรสรสีหราช


พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือที่ชาวลพบุรีเรียกกันว่า ‘พระที่นั่งเย็น' หรือ ‘ตำหนักทะเลชุบศร' พระที่นั่งแห่งนี้เป็นที่ประทับในฤดูร้อนของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ณ เมืองลพบุรี องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ เป็นพระที่นั่งชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน

ในปัจจุบันคงเหลือเพียงกำแพงและผนัง ส่วนทะเลชุบศรในสมัยโบราณนั้นเป็นที่ลุ่มมีน้ำขังอยู่ตลอด สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ทำทำนบใหญ่กั้นน้ำไว้ เพื่อชักน้ำจากทะเลชุบศรผ่านท่อน้ำดินเผาไปยังเมืองลพบุรี ปัจจุบันยังเห็นเป็นสันดินปรากอยู่ และที่สำคัญพระที่นั่งเย็นแห่งนี้ เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงใช้เป็นที่สำรวจจันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2228 และทอดพระเนตรสุริยุปราคา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2231 ร่วมกับคณะทูตและบาทหลวงจากประเทศฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี

6 แลนด์มาร์คสำคัญเมืองลพบุรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ

บ้านพระยาวิชเยนทร์


สร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อรับรองเอกอัครราชทูตจากฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สถานที่นี้จึงได้ชื่อว่า ‘บ้านหลวงรับราชทูต' ในตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ขุนนางสำคัญในสมัยนั้นเคยพักอยู่ที่นี่ จึงเรียกตึกนี้ว่า ‘บ้านเจ้าพระยาวิชเยนทร์'

อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐ แบ่งได้ 3 ส่วน ด้านตะวันออกเป็นบ้านพักของคณะทูตชาวฝรั่งเศส ส่วนด้านตะวันตกเป็นบ้านพักของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ขุนนางชาวกรีก กับภรรยา ท้าวทองกีมาร์ ส่วนกลางเป็นที่ตั้งของโบสถ์ของคริสต์ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบ Renaissance ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย

6 แลนด์มาร์คสำคัญเมืองลพบุรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ

วัดสันเปาโล


วัดสันเปาโล เพี้ยนมาจาก "เซนต์เปาโล" (Saint Paulo) โบสถ์คริสต์ที่เป็นสถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยผสมยุโรปคล้ายกับบ้านวิชเยนทร์ สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้พระราชที่ดินให้แก่บาทหลวงเยซูอิต 12 รูป ที่เดินทางมาสยาม ในครั้งที่ 2 มีข้อสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างระหว่าง พ.ศ.2228-2230 สร้างขึ้นสำหรับบาทหลวงชุดที่ 2 ที่เป็นนักดาราศาสตร์จะมาประจำ ณ เมืองลพบุรี ที่เดินทางเข้ามาพร้อมกับโกษาปานที่ไปเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

วัดสันเปาโลสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ทำพิธีทางศาสนา พร้อมกับใช้เป็นที่พักของเหล่าบาทหลวง และที่สำคัญคือที่โบสถ์นี้มีหอดูดาวซึ่งใช้เป็นหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ แห่งแรกในกรุงสยาม มีลักษณะเป็นหอคอยแปดเหลี่ยม

ปัจจุบันเหลือเพียงซากของผนังหอดูดาวแปดเหลี่ยมบางส่วน กับฐานของอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นที่พักของบาทหลวงและโบสถ์ฝรั่งเท่านั้น

6 แลนด์มาร์คสำคัญเมืองลพบุรี ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ

เพนียดคล้องช้าง


เพนียดคล้องช้าง ตั้งอยู่ในค่ายพระนารายณ์มหาราช ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่พบว่ามีบันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังเมืองลพบุรี ได้การกล่าวถึงสถานที่แห่งนี้เป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่เมื่อราวปีพ.ศ.2216 นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับแปรพระราชฐานของกษัตริย์ไทยแล้ว ยังเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในสมัยนั้นด้วย

นอกจากนี้ในเอกสารบันทึกของชาวต่างประเทศที่เดินทางมายังสยามเข้ามาในช่วงสมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของเมืองลพบุรี และพระราชนิยมของสมเด็จพระนารายณ์ที่มีต่อการล่าสัตว์และการคล้องช้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเพนียดคล้องช้างได้เป็นอย่างดี

"...พระเจ้าแผ่นดินกำลังเตรียมพระองค์ที่จะเสด็จไปยังเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองที่โปรดประทับมากกว่าเมืองอื่นๆ อยู่ห่างพระนครระยะทาง 2 วัน ที่เมืองนี้เคยเป็นที่ประทับทุกๆ ปี คราวละ 4-5 เดือน เพื่อทรงไล่เสือและคล้องช้าง... " จากตอนหนึ่งในจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส บันทึกเรื่องราวปี พ.ศ. 2216

ที่มา : campus-star.com

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์