เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง

เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง

แนวคิด :  ศิลปกรรมเป็นสิ่งแสดงอัตลักษณ์ของผู้สร้างสรรค์ สามารถสะท้อนแนวคิด มุมมอง ทัศนคติ รสนิยม และบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้อย่างมีมิติน่าสนใจ ดังนั้น นอกจากเรื่องของความสวยงาม และกรรมวิธีการสร้างสรรค์แล้ว การพินิจพิเคราะห์งานศิลปกรรมโดยอาศัยความรู้ในเชิงปรัมปราอาจจะทำให้เราเข้าใจโลกทัศน์ของผู้สร้างงานนั้นๆได้มากขึ้น 

เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง

รูปสิงสาราสัตว์ มักปรากฏในงานศิลปกรรมของแทบทุกชนชาติ โดยมีพื้นฐานมาจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว อาศัยการสังเกตธรรมชาติจริงๆ แล้วสร้างสรรค์สิ่งที่เห็นออกเป็นชิ้นงาน เราจึงพบรูปสัตว์ต่างๆอยู่ในงานศิลปกรรม เช่น ปลา นก ช้าง เป็นต้น ครั้งต่อมามนุษย์เริ่มมีความคิดซับซ้อนลุ่มลึก ผนวกกับความเชื่อในสิ่งเร้นลับ จึงพยายามใส่ความหมายทางปรัชญาลงไปในรูปสัตว์ต่างๆ อาทิ รูปช้าง หมายถึงพลังอำนาจ รูปปลาหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ หรือการเวียนว่ายตายเกิด เป็นต้น ตลอดจนสร้างสรรค์สัตว์วิเศษตามจินตนาการขึ้น เพื่อตอกย้ำโลกทัศน์ของตน อาทิ นาค มกร หงส์ ครุฑ เป็นต้น ซึ่งล้วนมีความหมายเกี่ยวข้องกับระบบจักรวาลตามคติเดิม 
หากจะเปรียบงานศิลปกรรมเป็นพงไพรแห่งความคิด การค้นหาสัตว์เหล่านี้ย่อมไม่ต่างอะไรจากการเข้าป่าเพื่อส่องสัตว์เฉกเช่นที่นักนิยมไพรทำกัน ทว่านอกจากจะได้เห็นลีลางดงามน่าทึ่งของสิงสาราสัตว์ที่ถูกนิรมิตขึ้นด้วยศิลปะอันเลอเลศแล้ว ยังอาจเข้าใจปรัชญาอันคมคายที่แฝงอยู่ในผลงานเหล่านั้นด้วย 
ส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง 

เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง

วัฒนธรรมแห่งเมืองพระร่วง ก็นิยมแต่งแต้มสิงสาราสัตว์ลงในป่าศิลปกรรมเช่นกัน สัตว์เหล่านี้แลดูดั่งมีชีวิตโลดแล่นอยู่ท่ามกลางกาลเวลาที่นับเนื่องมาหลายร้อยปี การหาเวลาว่างๆ หลีกหนีความวุ่นวายจากฝูงชน มาใช้ชีวิตสงบๆ ตามส่องเหล่าสัตว์ในงานศิลปกรรมเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เรามองโลกใบนี้งดงามขึ้นกว่าเดิม เป็นวิธีคลายอารมณ์ที่น่าสนใจไม่หยอก ว่ากันว่า ใครก็ตามที่ดั้นด้นไปถึงแอฟฟริกา ต้องหาเวลาไปส่องสัตว์ในทุ่งสะวันน่า และเมื่อไปที่นั่นแล้วก็ไม่ควรพลาดตามหา Big Five แห่งทุ่งกว้าง เช่นเดียวกัน หากมาชมสะวันน่าแห่งพระร่วงเจ้าแล้ว ก็ควรตามหา Wonder Five ห้าสัตว์อัศจรรย์ของดินแดนนี้ให้พบ ประกอบด้วย 

นาค  สัตว์ในจินตนาการที่ชาวไทยและชาวเอเชียอาคเนย์รู้จักดี รูปร่างคล้ายงูขนาดใหญ่ มีหงอน มีถิ่นอาศัยอยู่ใต้โลก เป็นผู้รักษาทรัพย์ และผู้ดูแลแผ่นดิน และควบคุมความสมดุลของน้ำในโลก มีตำนานมากมายที่เกี่ยวกับนาค ทั้งในพุทธประวัติ  เทวนิยาย รวมถึงนิยายพื้นบ้าน ในวัฒนธรรมพระร่วงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนาคที่สำคัญที่สุด คือเรื่องพระร่วง ซึ่งเชื่อว่าท่านเป็นลูกของนางนาค นอกจากนี้ในทางโบราณคดียังเชื่อกันว่านาคในนิยายโบราณหมายถึงคนพื้นถิ่น และความเคารพนับถือนาคก็พัฒนามาจากความเกรงกลัวต่องู นั่นเอง

เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง

มกร เป็นสัตว์ในจินตนาการ เกิดจากสัตว์หลายๆชนิดผสมกัน เช่น งู ปลา สิงห์ ช้าง กวาง เป็นต้น มกรปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมของหลายๆวัฒนธรรม เช่น อินเดีย ลังกา พุกาม เขมร และไทย ในสมัยสุโขทัยมีการสร้างมกรหลากหลายรูปแบบ ทั้งเดี่ยว และสร้างคู่กับนาค โดยมกรมักอ้าปากคายนาคออกมา ซึ่งเชื่อว่าอาจมีเป็นปรัชญาที่สะท้อนแง่มุมทางความคิดต่างๆ อาทิ เชื่อว่ามกร และนาค เป็นสื่อแทนถึงน้ำที่อยู่บนพื้นและน้ำในอาอากาศ มกรคายนาคจึงหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเกี่ยวพันกันของน้ำเหล่านี้ ในทางการเมือง มีผู้ให้ทัศนะว่ามกร หมายถึงชนชาติพม่า ที่พยายามจะกลืนกินวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งเชื่อว่ามีบรรพชนเป็นนาค และในทางพระพุทธศาสนาก็เชื่อกันว่า นาคหมายถึงชีวิตมนุษย์ ที่มักถูกมกรคือความลุ่มหลงกลืนกินครอบงำ หากนาค (คือตัวเรา) ถูกมกร (คือความลุ่มหลง) คาบเอาไว้ ย่อมเดินทางไปสู่ปลายทางคือนิพพานได้ยาก นั่นเอง

กาล หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า เกียรติมุข เป็นสัตว์ประหลาดในจินตนาการ เชื่อว่าเกิดขึ้นจากระหว่างคิ้วของพระอิศวรยามเมื่อกำลังพิโรธ เมื่อกำเนิดขึ้นแล้วก็กลืนกินสรรพสิ่ง แม้กระทั่งตัวเองก็ถูกตัวเองกิน เหลือเพียงส่วนใบหน้า และท่อนแขน ก่อนจะถูกพระอิศวรสาปให้ไปประจำอยู่ในทางเข้าศาสนสถานเพื่อกลืนกินกาลเวลาเป็นอาหาร กาลจึงเป็นเครื่องสะท้อนปรัชญาว่ากาลเวลากลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง เราไม่ควรประมาทนั่นเอง เรามักพบหน้ากาลอยู่บริเวณซุ้มประตูของศาสนสถาน ตามตำนานที่กล่าวไว้ และมีผู้สับสนระหว่างกาลกับราหูอยู่เสมอ จุดสังเกตขึ้นราหูมักจะอมพระจันทร์หรือพระอาทิตย์อยู่ในปากเสมอ แต่กาลไม่มี

เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง

ช้าง เป็นสัตว์มงคลสำหรับชาวเอเชียมาตั้งแต่โบราณ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคง บุญญาธิการ เราจึงพบช้างในเรื่องเล่าเก่าแก่และงานศิลปกรรมเสมอ ในเมืองสุโขทัยนิยมสร้างประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบเจดีย์ ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ลังกา เพื่อแสดงสถานะสำคัญของพระพุทธศาสนานั่นเอง

ปลา อาจจะเป็นสัตว์ธรรมดาที่เราคุ้นเคย แต่ปลาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในศิลาจารึกยังมีสำนวนว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และพบปลาอยู่ในงานศิลปกรรมต่างๆมากมาย โดยเฉพาะรูปปลาที่ปรากฏในชามสังคโลก ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน และปลากา เป็นต้น มีตำนานมากมายที่เกี่ยวข้องกับปลา เช่น คราวน้ำท่วมโลกพระนารายณ์อวตารเป็นปลาช่วยเหลือมนุษย์และสัตว์ต่างๆไม่ให้สูญพันธุ์ เชื่อกันว่าแกนจักรวาลเป็นภูเขาชื่อพระสุเมรุ มีปลายักษ์ชื่ออานนท์หนุนแผ่นดินไว้ เมื่อปลาพลิกตัวก็เกิดแผ่นดินไหว ในเมืองสุโขทัยมีตำนานกำเนิดปลาพระร่วง ซึ่งมีลำตัวบางใส เป็นต้น ปลามีธรรมชาติว่ายเวียนอยู่ในน้ำ บางครั้งก็ใช้ปลาเป็นสัญลักษณ์ถึงการเวียนว่ายตายเกิด 

เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง

นอกจากนี้ยังพบศิลปกรรมรูปสัตว์อื่นๆ มากมายในวัฒนธรรมสุโขทัย อาทิ
สิงห์ เป็นเครื่องหมายของความสง่างาม น่าเกรงขาม แสดงถึงความเป็นผู้นำ เราพบรุปสิงห์ไม่บ่อยนักในศิลปกรรมสุโขทัย แต่พบมากในเขมร และอยุธยา สันนิษฐานว่ารุปสิงห์ที่พบในเมืองพระร่วงอาจถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่อยุธยามีอำนาจเหนือเมืองสุโขทัยแล้ว
หงส์ เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และสรวงสวรรค์ ในศาสนาฮินดู หงศ์เป็นพาหนะของพระพรหม และพระวรุณ เจ้าแห่งฝน หงส์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณืด้วย 
วานร เป็นสัตว์ที่พบมากในป่าเอเชีย นายช่างศิลปกรรมมีความคุ้มเคยกับวานรจึงนิยมนำมาสร้างสรรค์ในงานศิลปกรรม มักอยู่ควบคู่กับลายพรรณพฤกษา มีนิทานมากมายที่เกี่ยวกับวานร โดยเฉพาะในชาดกที่พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นวานรในอดีตชาติ
ม้า เป็นเครื่องหมายของพละกำลัง และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ นิทานชาดกมีเรื่องเล่าของพระพุทธเจ้าที่เสวยพระชาติเป็นม้า สัตว์ชนิดนี้เป็นพาหนะของเทพเจ้ามากมาย เช่น พระพาย พระอาทิตย์ และพระจันทร์ เป็นต้น 
โค หรือกระบือ ในวัฒนธรรมพระร่วง พบรูปโคทำด้วยสังคโลกอยู่จำนวนหนึ่ง สันนิษฐานว่าอาจใช้เป็นเครื่องบูชาและของเล่น แสดงถึงความผูกพันของมนุษย์กับโค และกระบือ ซึ่งนำมาใช้แรงงานในภาคเกษตรกรรมและการค้า ในศาสนาพราหมณ์ โคเป็นพาหนะของพระศิวะ และพระศุกร์ ส่วนกระบือเป็นพาหนะของพระอังคาร
นก เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในวัฒนธรรมพระร่วง พบรูปนกทั้งในประติมากรรม และเป็นสัญลักษณ์ในกระบวนลายของผ้าซิ่นไทยพวน ซึ่งมีความหมายแฝงไว้ อาทิ นกคู่ หมายถึง ความรักยืนนาน นกหมู่หมายถึงความสามัคคี นกแถว หมายถึงระเบียบวินัย เป็นต้น
ครุฑ เทพพาหนะของพระนารายณ์ สัญลักษณ์ของพลังอำนาจ 
กินนร/กินรี สัตว์ในจินตนาการที่เกิดจากการผสมผสานคนกับนก เชื่อว่ามีถิ่นพำนักอยู่ในป่าหิมพานต์ 
สุนัข สัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์และความฉลาดหลักแหลม ในเมืองสุโขทัยมีภาพจำหลักชาดกบนแผ่นหินเล่าเรื่องในอดีตชาติที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นสุนัข

เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง

เส้นทางส่องสัตว์ เมืองศรีสัชนาลัย

o วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร (วัดพระปรางค์)
 ราหู
 นาค
o วัดนางพญา
 วานร
o วัดเจดีย์เจ็ดแถว
 มกร
 กาล
o วัดช้างล้อม
 ช้าง
o เตาทุเรียง
 ปลา 
 ช้าง
 นก

เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง

เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง 
โดย สิรวีย์ เอี่ยมสุดใจ

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์