หากเปรียบเทียบ จ.กาญจนบุรี เป็นหญิงสาวๆ หลายคนคงคุ้นชินกับสาวน้อยคนนี้ในฐานะผู้หญิงที่มีหลากหลายบุคลิกให้เลือกค้นหา ในมุมหนึ่งเธอดูเป็นผู้หญิงที่เรียบง่าย สวยงามแบบไม่ปรุงแต่งด้วยแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่อีกมุมเธอคือหญิงสาวที่ชวนค้นหา มีเรื่องราวมากมายให้รอเข้าไปสัมผัสผ่านแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มากมาย ไม่ว่าคุณจะหลงเสน่ห์ของกาญจนบุรีในมุมไหน รับรองว่าจากนี้ คุณจะหลงรักกาญจนบุรีมากขึ้น เมื่อหญิงสาวคนเดิมกำลังจะเผยมุมใหม่ให้ทำความรู้จักด้วยการเปิดตัวสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ อย่าง "เมืองมัลลิกา ร.ศ.124" แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในยุคอดีตที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งเดียวในไทย และแห่งเดียวของโลก
นายพลศักดิ์ ประกอบ ผู้ก่อตั้งเมือง มัลลิกา ร.ศ. 124 เมืองแห่งวัฒนธรรมและวิถีชนที่ฉีกกรอบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ ด้วยการพาทุกคนย้อนเวลานับร้อยปีไปสัมผัสรากเหง้าความเป็นไทยอย่างแท้จริง ผ่านงานสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของชาวสยามในอดีตอันแสนงดงามในช่วงปลายรัชสมัยของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ซึ่งมีการประกาศเลิกทาส เล่าถึงที่มาของความทุ่มเทแรงกายแรงใจในการเนรมิตโครงการมูลค่ากว่า 200 ล้านบาทนี้จนสำเร็จว่า เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่เหมือนมีชีวิตจริงๆขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดถึงวิถีชีวิต และ ภูมิปัญญาของชาวไทยสมัยโบราณ ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่อยากท่องเที่ยวแบบถึงแก่น ไม่ต้องการมาชื่นชมเพียงเศษซากหรือร่องรอยทางวัฒนธรรมที่หลงเหลือจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่ไม่รู้ซึ้งถึงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งส่งต่อความทรงจำอันงดงามในอดีตที่เกือบจะเลือนหายสู่คนรุ่นหลัง
"ผมชอบท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เวลาที่ผมมีโอกาสไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ผมมักตั้งคำถามว่า เบื้องหลังสถาปัตยกรรมเหล่านี้ มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาอะไรซ่อนอยู่ ประกอบกับตัวผมเองชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย จึงพบว่าวิถีชีวิตชาวไทยในสมัยโบราณนั้นมีภูมิปัญญาที่น่าสนใจแทรกอยู่ เลยเกิดไอเดียว่าคงจะดีไม่น้อยหากเรานำเรื่องราวเหล่านี้มาส่งต่อให้กับเด็กรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เข้าใจว่ารากเหง้าของบรรพบุรุษไทยมีที่มาที่ไปอย่างไร ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งจำลองบรรยากาศบ้านเมืองในอดีต ควบคู่ไปกับการสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ ผมจึงตัดสินใจสร้างเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 ขึ้นมาเพื่อให้ถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนในยุคหลังเลิกทาสไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดในรูปแบบ "Living Heritage" หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจ"
เหตุผลที่เลือกหยิบเอายุคสมัย ร.ศ.124 ที่รัชกาล5 ทรงประกาศเลิกทาสได้สำเร็จ ขึ้นมาเป็นรูปแบบในการจัดสร้างเมืองนั้น พลศักดิ์ บอกว่า เพราะในร.ศ.124 เป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายขึ้นในแผ่นดินสยามซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อรูปแบบการดำรงชีวิตของคนในยุคนั้นอย่างมีนัย ตั้งแต่การประกาศ
เลิกทาส การแผ่ขยายอิทธิพลจากโลกตะวันตกเข้ามาในแผ่นดินสยาม และนำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างรากเหง้าของวิถีชีวิตคนไทยดั้งเดิมกับวัฒนธรรมตะวันตก จนได้รับการนิยามว่าเป็น ยุคทองแห่งความศิวิไลซ์
ความน่าสนใจในการสร้างเมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 ให้กลายเป็นเมืองโบราณที่ราวกับมีชีวิตจริงๆนี้ สะท้อนผ่านหลากหลายแง่มุม เริ่มต้นตั้งแต่การตั้งชื่อโดยอ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เลือกใช้ชื่อมัลลิกา ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำอิระวดีในพม่า อันได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมอารยธรรมโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ด้วยกัน พร้อมกันนี้ชื่อมัลลิกา ซึ่งแปลเป็นไทยว่า "มะลิ" ยังบังเอิญไปพ้องกับชื่อตัวละครสมมติที่ อ.ชาตรี ปกิตนนทกานต์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมาช่วยควบคุมการออกแบบเรือนไทยตามหลักการสร้างเรือนประเภทต่างๆที่ถูกต้อง หยิบยกใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบทั้งหมดอีกด้วย
สำหรับผู้มาเยือน เพียงก้าวผ่านประตูเมืองจำลองเข้ามา จะรู้สึกเหมือนราวกับได้เดินทางข้ามมิติมาสู่อีกช่วงเวลาหนึ่ง บนพื้นที่ 60 ไร่ภายในเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 ประกอบด้วยเรือนไทย 4 ประเภท แต่ละเรือนจะสะท้อนภาพสถานะของผู้อยู่อย่างชัดเจน เริ่มจาก เรือนเดี่ยว เป็นเรือนชาวบ้าน เป็นที่อยู่ของชนชั้นกรรมมาชีพ ชาวนา มีหน้าที่ผลิตปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพ ด้วยการทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกผัก ณ เรือนนี้ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งต่อไปใช้ในเรือนครัว กระบวนการสีและตำข้าวแบบโบราณเพื่อให้ได้ข้าวสาร
ถัดมาคือเรือนคหบดี ซึ่งเป็นที่อยู่ของชนชั้นปกครอง กิจกรรมบนเรือนแห่งนี้จะเน้นงานไปที่งานฝีมือ อย่างงานใบตอง งานดอกไม้ งานเครื่องแขวน งานแกะสลักผลไม้ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะแสนประณีตที่หาชมได้ยาก อีกหนึ่งในความพิเศษของเรือนนี้คือ พื้นที่เรือนครัว ที่จะสะท้อนวิถีชีวิตการทำอาหารอย่างวิจิตรงดงามของคนสมัยก่อน ช่วยคืนชีพหลากหลายภูมิปัญญาที่แทบจะสูญหายไปแล้ว เช่น การหุงข้าวเตากระทะ การประกอบอาหารคาวหวานตามแบบฉบับโบราณแท้ๆ โดยผลงานจากเรือนครัวทั้งหมดนี้ จะถูกส่งต่อไปใช้ประโยชน์จริง ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัยจะนำไปใช้สำหรับต้อนรับแขก เช่นเดียวกับอาหารคาว-หวานจะนำไปใช้เลี้ยงพนักงานทุกคนในเมืองจำลอง
ในส่วนของเรือนหมู่ เป็นเรือนสำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองของคหบดี โดยปกติเรือนเหล่านี้มักมีคณะนาฏศิลป์ของตัวเองสำหรับรับแขก ดังนั้นเรือนนี้จะสะท้อนวิถีชีวิตของนาฏศิลป์ไทย รวมทั้งความวิจิตรบรรจงของสำรับกับข้าวไทยที่ขึ้นชื่อทั้งรสชาติและหน้าตาอาหาร ที่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ เพราะเป็นเรือนหมู่ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว ปิดท้ายด้วยเรือนแพซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านค้าต่างๆ จำลองบรรยากาศย่านการค้าในอดีต ซึ่งเส้นทางหลักในการสัญจรไปมา คือทางน้ำ ดังนั้นเรือนแพเหล่านี้จึงปลูกไว้ริมน้ำ รายล้อมไปด้วยร้านค้ามากมาย ร้านที่มาแล้วพลาดไม่ได้ คือ ร้านกาแฟตงฮู ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นร้านกาแฟที่ทันสมัยที่สุดในยุค
นั้นจริงๆ เพราะมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟสดจากต่างประเทศเข้ามาใช้ ถัดมาคือร้านข้าวแกงที่สร้างจุดขายได้อย่างน่าสนใจด้วยการนำเมนูข้างแกงที่รัชกาลที่5 ทรงโปรด มานำเสนอเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับรสชาติของอาหารแบบไทยแท้แบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายของชำร่วย เพื่อเป็นตัวแทนความทรงจำให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้ออีกด้วย
"เพื่อให้ทุกๆแห่งของเมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 ดูราวกับมีชีวิตอย่างแท้จริง เราไม่ได้เลือกนำเสนอผ่านเรือนไทย หรือ จัดการแสดงโชว์เป็นรอบๆ แต่เราเลือกนำวิถีชีวิตของคนจริงๆ มาใส่ไว้ในเมือง โดยเราจำลองให้เมืองนี้มีประชากรราว 400 คน ประกอบด้วยกลุ่มคนใน 3 ช่วงวัย ตั้งแต่ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และ วัยรุ่น เพื่อให้เป็นไปตามสภาพครอบครัวไทยในอดีต ทุกคนจะแต่งกายแบบโบราณ และดำรงชีวิตในแต่ละวันเสมือนจริงในยุคสมัยนั้น ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมาเยือนเมื่อไหร่ ก็จะอิ่มเอมและเพลิดเพลินไปกับวิถีชีวิตที่ย้อนไปในยุคโบราณ เห็นภาพวัฒนธรรมอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องเก็บไปจินตนาการอีกต่อไป"
ด้านนายวิศรุต อินแหยม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี เปิดเผยว่า เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มาช่วยเติมเต็มมิติการท่องเที่ยวของจ.กาญจนบุรีให้สมบูรณ์อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา เมื่อเอ่ยถึง จ.กาญจนบุรี นักท่องเที่ยวมักนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เท่านั้น ดังนั้น เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 จึงมาช่วยเติมเต็มในแง่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีไทยได้เป็นอย่างดี และคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนกาญจนบุรี ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องทำเลที่ตั้งที่ตั้งที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก การเดินทางสะดวก มีร้านอาหาร โรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างครบครันอยู่แล้วมากขึ้น
"ผมมองว่าเมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีทั้งความแปลก ความใหม่ ความใหญ่ และความดังอยู่ครบ ที่ว่าแปลก เพราะเป็นครั้งแรกของจ.กาญจนบุรีที่เราจะมีหลักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ผ่านมาเราโดดเด่นเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและโบราณสถาน ที่นี่ช่วยให้ภาพการท่องเที่ยวของกาญจนบุรีดูครบครันมากขึ้นมา ในแง่ความใหม่ คือ เมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 ชูจุดขายนำเสนอความเป็นอยู่แบบวิถีไทยอย่างลึกซึ้ง ที่ไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน เพราะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่มีหัวใจอยากเรียนรู้วิถีไทยได้เติมเต็ม ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนยุคหลังเลิกทาสผ่านคนจริงๆ ไม่ใช่การแสดง หรือจัดโชว์ โดยมีอีกหนึ่งจุดเด่น คือ การจัดสร้างเรือนหมู่ ซึ่งเป็นเรือนสำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองของคหบดีสมัยโบราณ ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไว้ที่นี่ด้วย เพราะฉะนั้นด้วยความพิเศษเหล่านี้เลยทำให้เมืองมัลลิกา ร.ศ 124 โด่งดัง และ เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยแล้ว จากนี้ไป หน้าที่ของเราคือตอกย้ำให้เกิดภาพลักษณ์การจดจำที่มีต่อเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 เพื่อนำไปสู่การต่อยอดในการส่งเสริมและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางมาที่นี่ ที่ผ่านมา ทาง ททท.จังหวัดได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วย
สร้างการรับรู้ในพื้นที่ ซึ่งเรามองว่าเป็นกลไกสำคัญ เพราะเมื่อมีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เกิดขึ้น ชาวกาญจนบุรีต้องรับรู้ แสดงการเป็นเจ้าของร่วมกัน ช่วยกันเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ให้แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่นี้"
ด้าน นภัสวรรณ เจริญพานิชย์ แม่ครูประจำครัวใหญ่ (ฝ่ายขนมหวาน) อายุ 53 ปี
บอกเล่าถึงอีกหนึ่งเสน่ห์ของเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 ว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมเมืองมัลลิกา ร.ศ 124 จะได้พบกับสูตรอาหารไทยต้นตำรับที่หาชมและหารับประทานได้ยากในปัจจุบัน ได้แก่ ขนมเสน่ห์จันทร์ ขนมจ่ามงกุฏ ขนมทองเอก ขนมหยกมณี ขนมบุหลันดั้นเมฆ ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู ขนมจีบไทย ขนมน้ำดอกไม้ ขนมเรไร ขนมเปียกปูน ขนมไข่ปลา ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง เป็นต้น นักท่องเที่ยวที่จะได้ชมทุกขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตอย่างละเอียด ผ่านการใช้เตาถ่านแบบดั้งเดิมที่ยากต่อการควบคุมอุณหภูมิไฟให้คงที่ สะท้อนความวิริยะและความพิถีพิถันของคนในยุคสมัยก่อนที่จะประกอบอาหารคาวหวานในแต่ละครั้ง
"ขนมไทยในสมัย ร.ศ 124 ถือเป็นที่ลือเลื่องเฟื่องฟูมาก จัดเป็นขนมไทยชั้นสูงเพราะด้วยขั้นตอนการทำที่ประณีตพิถีพิถัน อีกทั้งเป็นเครื่องสวยที่ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมากของรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะ ขนมทองหยอด ดังนั้นขนมตระกูลทองต่างๆ อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง จึงเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น อีกทั้งขนมมงคลเหล่านี้ยังใช้ในการนำไปประกอบเครื่องคาวหวานเพื่อถวายพระในงานมงคลต่างๆ เช่น งานบวช งานมงคลสมรส หรืองานขึ้นบ้านใหม่อีกด้วย"
สำหรับใครที่มาเยือนเมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 แล้วอยากอินกับบรรยากาศย้อนยุคจริงๆ ทางเมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 มีเครื่องแต่งกายที่สะท้อนถึงยุคร.ศ.124ให้บริการ แต่ต้องทำตามกฎระเบียนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ เมืองมัลลิกา ร.ศ.214 พร้อมเปิดให้บริการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป โดยทางเมืองมัลลิกา ร.ศ.124 ได้จัดจำหน่ายบัตรในราคาโปรโมชั่นพิเศษช่วงเปิดเมือง (เฉพาะวันที่ 29 ต.ค. - 13 พ.ย. นี้เท่านั้น) บัตรเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ ราคา 150 บาท/ท่าน และเด็ก ราคา 75 บาท/ท่าน นอกจากนี้หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะเข้าชม พร้อมรับประทานอาหารโบราณหาชิมได้ยากและชมการแสดงโชว์สุดอลังการ จำหน่ายบัตรเข้าชมพร้อมอาหารเย็นและโชว์สำหรับผู้ใหญ่ 550 บาท/ท่าน*และสำหรับเด็ก 350 บาท/ท่าน (หมายเหตุ : เด็กสูง ต่ำกว่า 80 ซม. เข้าฟรี / สูงระหว่าง 80-120 ซม.-ราคาเด็ก / สูงเกิน 120 ซม. -ราคาผู้ใหญ่) *พร้อมรับของที่ระลึกจากเมืองมัลลิกา ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์ 034-540884-86