จากนั้น เข้าไปสักการะ พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก ซึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นและพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง ณ พระอุโบสถ
ถัดมา เป็นวัดที่ 5 "วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร" ตามชื่อเชื่อว่า จะมีชื่อเสียงโด่งดังดั่งเสียงระฆัง มีคนนิยมชมชอบ วัดระฆังเป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระเถระผู้ทรงเกียรติคุณและวิทยาคุณโด่งดังมากแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เข้าไปกราบสักการะพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นเบื้องต้น
จากนั้นไปวิหารสมเด็จพุฒาจารย์ฯ เพื่อสักการะ รูปหล่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และพระเกจิผู้ทรงวิทยาคุณ ด้วยการสวดคาถาชินบัญชร
อย่าลืมพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล และโดยส่วนใหญ่จะไปทำทานต่อด้วยการปล่อยปลาปล่อยเต่าที่ท่าน้ำด้วย
ข้ามฝั่งจากวัดระฆังฯ ฝั่งธนบุรี กลับเข้ากรุงเทพฯ เดินทางไป
วัดที่ 6 ที่ "วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร" ตรงบางลำพู วัดนี้ สร้างสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหา สุรสิงหนาท ทรงสถาปนาวัดขึ้นมาใหม่ และรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายราชสามัญ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ทหารรามัญในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ต่อมาเมื่อมีชัยชนะต่อกองทหารข้าศึกถึง 3 ครั้ง จึงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เข้าไปกราบสักการะพระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ฯ ในพระอุโบสถ และรูปเคารพสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เพื่อขอชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
วัดที่ 7 ใกล้กัน "วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร" เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6, 7 และรัชกาลปัจจุบันทรงผนวช เข้าไปกราบพระพุทธชินสีห์ และพระประธาน ในพระอุโบสถ ที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร
ต่อด้วย วิหารพระศาสดา พระเจดีย์ใหญ่ และพระตำหนักปั้นหยา สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่ทรงผนวช เชื่อกันว่าจะพบแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิต
จากวัดบวรฯ มาบริเวณปากคลองมหานาค เข้าวัดที่ 8 "วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร"หรือที่เรียกกันว่า ภูเขาทอง วัดนี้เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และนับเป็นวัดสำคัญคู่มากับการสร้างกรุงเทพมหานคร สิ่งสำคัญของวัดคือ พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ซึ่งพระเจดีย์บนยอดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เชื่อกันว่า จะช่วยเสริมสร้างความคิดอันเป็นมงคล