เส้นทางส่องสัตว์ในศิลปะพระร่วง
วัฒนธรรมแห่งเมืองพระร่วง ก็นิยมแต่งแต้มสิงสาราสัตว์ลงในป่าศิลปกรรมเช่นกัน สัตว์เหล่านี้แลดูดั่งมีชีวิตโลดแล่นอยู่ท่ามกลางกาลเวลาที่นับเนื่องมาหลายร้อยปี การหาเวลาว่างๆ หลีกหนีความวุ่นวายจากฝูงชน มาใช้ชีวิตสงบๆ ตามส่องเหล่าสัตว์ในงานศิลปกรรมเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เรามองโลกใบนี้งดงามขึ้นกว่าเดิม เป็นวิธีคลายอารมณ์ที่น่าสนใจไม่หยอก ว่ากันว่า ใครก็ตามที่ดั้นด้นไปถึงแอฟฟริกา ต้องหาเวลาไปส่องสัตว์ในทุ่งสะวันน่า และเมื่อไปที่นั่นแล้วก็ไม่ควรพลาดตามหา Big Five แห่งทุ่งกว้าง เช่นเดียวกัน หากมาชมสะวันน่าแห่งพระร่วงเจ้าแล้ว ก็ควรตามหา Wonder Five ห้าสัตว์อัศจรรย์ของดินแดนนี้ให้พบ ประกอบด้วย
นาค สัตว์ในจินตนาการที่ชาวไทยและชาวเอเชียอาคเนย์รู้จักดี รูปร่างคล้ายงูขนาดใหญ่ มีหงอน มีถิ่นอาศัยอยู่ใต้โลก เป็นผู้รักษาทรัพย์ และผู้ดูแลแผ่นดิน และควบคุมความสมดุลของน้ำในโลก มีตำนานมากมายที่เกี่ยวกับนาค ทั้งในพุทธประวัติ เทวนิยาย รวมถึงนิยายพื้นบ้าน ในวัฒนธรรมพระร่วงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนาคที่สำคัญที่สุด คือเรื่องพระร่วง ซึ่งเชื่อว่าท่านเป็นลูกของนางนาค นอกจากนี้ในทางโบราณคดียังเชื่อกันว่านาคในนิยายโบราณหมายถึงคนพื้นถิ่น และความเคารพนับถือนาคก็พัฒนามาจากความเกรงกลัวต่องู นั่นเอง
มกร เป็นสัตว์ในจินตนาการ เกิดจากสัตว์หลายๆชนิดผสมกัน เช่น งู ปลา สิงห์ ช้าง กวาง เป็นต้น มกรปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมของหลายๆวัฒนธรรม เช่น อินเดีย ลังกา พุกาม เขมร และไทย ในสมัยสุโขทัยมีการสร้างมกรหลากหลายรูปแบบ ทั้งเดี่ยว และสร้างคู่กับนาค โดยมกรมักอ้าปากคายนาคออกมา ซึ่งเชื่อว่าอาจมีเป็นปรัชญาที่สะท้อนแง่มุมทางความคิดต่างๆ อาทิ เชื่อว่ามกร และนาค เป็นสื่อแทนถึงน้ำที่อยู่บนพื้นและน้ำในอาอากาศ มกรคายนาคจึงหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ความเกี่ยวพันกันของน้ำเหล่านี้ ในทางการเมือง มีผู้ให้ทัศนะว่ามกร หมายถึงชนชาติพม่า ที่พยายามจะกลืนกินวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งเชื่อว่ามีบรรพชนเป็นนาค และในทางพระพุทธศาสนาก็เชื่อกันว่า นาคหมายถึงชีวิตมนุษย์ ที่มักถูกมกรคือความลุ่มหลงกลืนกินครอบงำ หากนาค (คือตัวเรา) ถูกมกร (คือความลุ่มหลง) คาบเอาไว้ ย่อมเดินทางไปสู่ปลายทางคือนิพพานได้ยาก นั่นเอง
ช้าง เป็นสัตว์มงคลสำหรับชาวเอเชียมาตั้งแต่โบราณ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคง บุญญาธิการ เราจึงพบช้างในเรื่องเล่าเก่าแก่และงานศิลปกรรมเสมอ ในเมืองสุโขทัยนิยมสร้างประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบเจดีย์ ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ลังกา เพื่อแสดงสถานะสำคัญของพระพุทธศาสนานั่นเอง
ปลา อาจจะเป็นสัตว์ธรรมดาที่เราคุ้นเคย แต่ปลาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ในศิลาจารึกยังมีสำนวนว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และพบปลาอยู่ในงานศิลปกรรมต่างๆมากมาย โดยเฉพาะรูปปลาที่ปรากฏในชามสังคโลก ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน และปลากา เป็นต้น มีตำนานมากมายที่เกี่ยวข้องกับปลา เช่น คราวน้ำท่วมโลกพระนารายณ์อวตารเป็นปลาช่วยเหลือมนุษย์และสัตว์ต่างๆไม่ให้สูญพันธุ์ เชื่อกันว่าแกนจักรวาลเป็นภูเขาชื่อพระสุเมรุ มีปลายักษ์ชื่ออานนท์หนุนแผ่นดินไว้ เมื่อปลาพลิกตัวก็เกิดแผ่นดินไหว ในเมืองสุโขทัยมีตำนานกำเนิดปลาพระร่วง ซึ่งมีลำตัวบางใส เป็นต้น ปลามีธรรมชาติว่ายเวียนอยู่ในน้ำ บางครั้งก็ใช้ปลาเป็นสัญลักษณ์ถึงการเวียนว่ายตายเกิด