5 เรื่องราวของภูเขาไฟฟูจิ ที่คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้

5 เรื่องราวของภูเขาไฟฟูจิ ที่คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้

เอ้า... คนญี่ปุ่นยังไม่รู้ แล้วคนไทยเราจะรู้ทำไม?
ไม่รู้ก็ไม่เป็นไรหรอกค่ะ เรื่องของ "ภูเขาไฟฟูจิ" มีมากมาย เจ๊แค่หยิบยกบางเรื่องมาให้อ่านกันเล่นๆ เผื่อจะไปโม้กับเพื่อนคนญี่ปุ่นได้

1. ที่ดินบนยอดภูเขาไฟฟูจิเป็นของใคร?

ถ้าถามคนญี่ปุ่นว่า ที่ดินของภูเขาไฟฟูจิเป็นของใคร คงจะได้คำตอบว่า "เป็นของคนญี่ปุ่นทุกคน" หรือไม่ก็ "เป็นของรัฐบาลสิ อาจจะอยู่ในความดูแลของจังหวัดชิซึโอกะ หรือยามานาชิ สักจังหวัดละมั้ง"
จริงๆ แล้ว พื้นที่ด้านหนึ่งของภูเขาไฟฟูจิเป็นพื้นที่ของจังหวัดชิซึโอกะ ส่วนด้านที่มีทะเลสาบทั้ง 5 จะเป็นของจังหวัดยามานาชิ แต่ถ้านับจากชั้น 8 คือความสูงที่ 3,360 เมตรจนถึงยอดภูเขาไฟแล้วล่ะก็ จะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลค่ะ คือเป็นของศาลเจ้า Sengen (浅間神社 : sengen jinja) ศาลเจ้าชินโตซึ่งมีถึง 1,300 แห่งทั่วญี่ปุ่น

 

 


ภาพจากรายการ hanatakaภาพจากรายการ hanataka


ศาลเจ้า Fujisan sengen พื้นที่ชั้นในสุด บนยอดเขาฟูจิศาลเจ้า Fujisan sengen พื้นที่ชั้นในสุด บนยอดเขาฟูจิ

ดิมทีว่ากันว่า คนที่ถือครองพื้นที่ภูเขาไฟฟูจิคือ โชกุนโทคุงะวะ อิเอะยาสึ ซึ่งได้มอบพื้นที่บนยอดภูเขาให้กับศาลเจ้าเซงเงน ในปีค.ศ. 1606 จนถึงยุคปฏิรูปสมัยเมจิ ซึ่งดึงที่ดินกลับมาเป็นของรัฐบาลเพื่อการจัดสรรปฏิรูปที่ดินใหม่ แต่ก็เป็นปัญหากันยาวนาน จนในที่สุด ปีค.ศ. 2004 จึงเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า พื้นที่บนยอดภูเขาไฟฟูจิเป็นของศาลเจ้าเซงเงน

2. ความสูงของภูเขาไฟฟูจิคือ 3,776 เมตรจริงหรือ?

ถ้าถามถึงความสูงของภูเขาไฟฟูจิ หรือฟูจิซัง มักจะได้คำตอบว่า "3,776 เมตร" เหนือระดับน้ำทะเล


5 เรื่องราวของภูเขาไฟฟูจิ ที่คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้

จากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ในปีค.ศ. 1885 แสดงให้รู้ว่าภูเขาไฟฟูจิเคยสูง 3,778 เมตรค่ะ จะว่าไป วิธีการวัดเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว อาจจะมีการผิดพลาดก็ได้ แต่จากการวัดเมื่อปีค.ศ. 1926 พบว่า ภูเขาไฟฟูจิมีความสูงลดลงไป 2 เมตร ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าภูเขาไฟฟูจิเตี้ยลงกว่าในอดีตนั้น เป็นเพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในคันโต เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1923

แต่จากมุมมองอีกด้าน บอกว่าอาจจะเป็นไปได้ว่า วิธีการวัดความสูงของภูเขา อาจจะทำให้ได้ผลลัพท์ที่ต่างไปจากอดีต โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในปีค.ศ. 1962 วัดได้ 3775 เมตร ในปี 1993 วัดได้ 3,774.9 เมตร

สรุป ความสูงของภูเขาไฟฟูจิ คือ 3,776 เมตรจริงหรือเปล่านั้น ไม่แน่ใจค่ะ เลยมักจะใช้กันว่า ประมาณ 3,776 เมตร

3. รู้ไหมว่า... สามารถทำพิธีแต่งงานบนยอดภูเขาไฟฟูจิได้

คู่รักจำนวนไม่น้อย ที่พยายามสรรหาสถานที่จัดพิธีแต่งงานที่มีความเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากที่อื่นๆ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า ณ ศาลเจ้า Sengen บนยอดภูเขาไฟฟูจิ สถานที่ที่สูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ก็สามารถทำพิธีแต่งงานได้


5 เรื่องราวของภูเขาไฟฟูจิ ที่คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้

แต่ช่วงเวลาที่จะสามารถทำพิธีแต่งงานได้ จำกัดแค่ 1 เดือนคือช่วงวันที่ 15 กรกฎาคม - 15 สิงหาคมเท่านั้นนะคะ โดยต้องแจ้งความจำนง 3 เดือนล่วงหน้า พร้อมชำระเงินหนึ่งแสนเยน ในแต่ละปี โดยเฉลี่ยมีคู่รักมาทำพิธีประมาณปีละ 3 คู่ค่ะ

2 คนที่กำลังจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ร่วมเดินทางปีนขึ้นฟูจิซังไปด้วยกันอย่างไม่ย่อท้อ และกล่าวคำสาบานรัก บนยอดเขาที่สูงที่สุด ที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของประเทศ

โหย... สุดแสนจะเลิฟสตอรี่ผุดๆ เลยไหมคะ
แต่จะมีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง บุกบั่นปีนตามไปเป็นพยานรักด้วยหรือเปล่านั้น ไม่แน่ใจนะคะ ><

4. ผู้หญิงที่ปีนขึ้นไปถึงยอดภูเขาไฟฟูจิคนแรกนั้นปลอมตัวเป็นผู้ชาย
ทุกวันนี้ จะผู้หญิงหรือผู้ชายก็ปีนขึ้นไปพิชิตยอดเขาฟูจิได้ แต่เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ในอดีตนั้นภูเขาไฟฟูจิถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ห้ามผู้หญิงขึ้นอย่างเด็ดขาด ในยุคเอโดะ ผู้หญิงสามารถไปสักการะได้ถึงแค่ศาลเจ้า sengen บนภูเขาไฟฟูจิชั้นที่ 2 เท่านั้น จนกระทั่งมีการยกเลิกกฎห้ามผู้หญิงขึ้นฟูจิซัง ในสมัยเมจิปีที่ 5 ( ค.ศ. 1872 )


5 เรื่องราวของภูเขาไฟฟูจิ ที่คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้

แต่จริงๆ แล้ว 40 ปีก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกกฎ ในปีค.ศ. 1832 นั้น มีสาวญี่ปุ่นวัย 25 ชื่อว่า Takayama Tatsu ที่หาญกล้าแหวกกฎ ปีนขึ้นไปเป็นผู้หญิงคนแรกที่พิชิตยอดฟูจิไปเรียบร้อยโรงเรียนญี่ปุ่น โดยปลอมตัว ทำผมทรงผู้ชาย และใส่เสื้อผ้าผู้ชาย ปีนขึ้นไปบนยอดเขาด้วยกันกับ Kodani Sanshi นักศาสนศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกเพศชายหญิง และเพื่อนผู้ชายคนอื่นๆ รวมกัน 5 คน

มาถึงในปีค.ศ. 1867 Fanny Parkes ภรรยาของทูตอังกฤษในญี่ปุ่นยุคนั้น ก็เป็นผู้หญิงต่างชาติคนแรกที่แหวกกฎ พิชิตยอดฟูจิไปอีกคน อืมม... ดูท่าทางจะมีอีกหลายคนที่ไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานนะคะเนี่ย

5. การเล่นสกีครั้งแรกในญี่ปุ่นเกิดขึ้นที่ภูเขาไฟฟูจิ
ผู้ที่นำการเล่นสกีเข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่นครั้งแรก คือทหารชาวออสเตรีย-ฮังการี ชื่อว่า Theodor Edler von Lerch หรือชาวญี่ปุ่นจะเรียกย่อๆ ว่า レルヒ (Reruhi) ซึ่งได้สอนการเล่นสกีให้กับทหารญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในยุคเมจิ ปีที่ 44 (ค.ศ. 1911) บนภูเขา Kanaya จังหวัด Niigata เรียกว่าเป็นบิดาแห่งสกีของญี่ปุ่น จนกระทั่งนำมาเป็นมาสคอตประจำจังหวัดนีกะตะ ประชาสัมพันธ์จังหวัดที่มีลานสกีกว้างใหญ่ หิมะหนานุ่ม เป็นแหล่งสกีที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น


5 เรื่องราวของภูเขาไฟฟูจิ ที่คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้

จริงๆ แล้ว การเล่นสกีครั้งแรกในญี่ปุ่น ไม่ได้เกิดขึ้นที่จังหวัดนีกะตะค่ะ แต่เป็นที่ภูเขาไฟฟูจิซึ่งมีหิมะปกคลุมยอดเขาแทบจะตลอดทั้งปีเนี่ยล่ะค่ะ ในปี 1910 นายทหาร Reruhi ซังคนเดียวกันนี้ พร้อมเพื่อนๆ ปีนขึ้นฟูจิไป แต่ไปได้ไม่ถึงยอดเขาค่ะ ด้วยสภาพหิมะและเวลาที่ไม่อำนวย ขึ้นไปได้ถึงชั้นที่ 8 ที่ความสูงประมาณ 3,600 เมตร แล้วไถสกีลงมา ในยุคนั้นคนญี่ปุ่นยังไม่รู้จักสกีกันเลย เรียกว่าเป็น culture shock กันไป

ที่ฟูจิชั้น 5 ก็ยังมีแผ่นป้ายที่ระลึกเขียนว่า เป็นสถานที่เล่นสกีครั้งแรกของประเทศญี่ปุ่นค่ะ


5 เรื่องราวของภูเขาไฟฟูจิ ที่คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้

ภูเขาไฟฟูจิหรือที่คนญี่ปุ่นจะเรียกว่า 富士山 ฟูจิซัง เป็นสถานที่ซึ่งไปกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ก็ประทับใจทุกครั้ง (ถ้าโชคดี ฟูจิซังไม่ขี้อายแอบไปอยู่หลังเมฆ อวดโฉมให้ได้เห็นแบบเต็มๆ นะคะ) ถ้าใครถามเจ๊ว่า ไปญี่ปุ่นครั้งแรก ควรไปที่ไหนดี เจ๊ก็คงยืนยันคำตอบเดิมทุกครั้งว่า

"ต้องไปเติมพลังที่ฟูจิซัง" สิคะ

เรื่องโดย : เจ๊เอ๊ด www.marumura.com

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์