เที่ยวโตเกียว! ขึ้นรถไฟยังไงไม่ให้ผิดฝั่ง ผิดสาย
รถไฟ เป็นการเดินทางที่ขึ้นชื่อของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะชื่อเสียงของความน่าทึ่งของปริมาณสายรถไฟ และความเป๊ะมากในเรื่องความตรงเวลา เมืองหลวงอย่าง "โตเกียว" นั้นก็มีรถไฟให้เลือกมากมาย ทั้งรถไฟบนดิน ใต้ดิน ลอยฟ้า รถไฟด่วน ชินคันเซ็น รถตู้นอน รถเข้าสนามบิน และอีกมากมายที่ชวนงง ยิ่งกับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างเราๆ ก็จะหลงเอาได้ง่ายๆ ซึ่งวันนี้เราอยากจะช่วยเหลือให้เพื่อนๆ ด้วยการทำให้เรื่องการขึ้นรถไฟเที่ยวโตเกียวไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปค่ะ
--
ใครที่เห็นรูปแผนที่รถไฟนี้แล้วอย่าพึ่งหนีกันไปไหน เพราะเราจะสอนให้มองมันได้อย่างง่ายดาย ก่อนอื่นต้องแนะนำก่อนว่า แผนที่ฉบับนี้จะเป็นแบบรวมของ รถไฟบนดิน (๋JR), รถไฟใต้ดิน (Subway) ของ Tokyo Metro และ Toei รวมทั้งรถไฟบริษัทเอกชนอื่นๆ ที่วิ่งในโตเกียว
แผนที่นี้จะทำให้เพื่อนๆ มองภาพรวมของผังรถไฟในโตเกียวได้ทั้งหมด ถ้าใครหลงไปไกลก็กลับเข้าเมืองได้ (ประโยชน์ทางอ้อม) ซึ่งแผนที่รถไฟแบบนี้เหมาะกับคนที่ใช้ทั้ง JR และ Subway ไม่ต้องลำบากมองหลายๆ แผ่นค่ะ แต่แน่นอนว่าคนที่เพิ่งหัดดูแผนที่นั้นก็จะงงมากถึงมากที่สุด!จากแผนที่ด้านบน สายรถไฟของบริษัท JR เส้นจะเป็นสีดำทั้งหมด
แต่จะมีชื่อสายกำกับอยู่ ด้านหัวหรือท้ายของปลายทาง (ในแผนที่คือตัวหนังสือสีแดงเล็กๆ) ปกติแล้วสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในโตเกียวก็จะอยู่บริเวณวงรีสีดำที่เห็นชัดๆ ในแผนที่นั่นละค่ะ ซึ่งก็คือเส้นทางของรถไฟ JR สาย Yamanote Line เป็นหนึ่งในรถไฟสายหลักของโตเกียวค่ะ
แต่ถ้าใครมองว่าแผนที่นี้ซับซ้อนเกินไป ก็มาดูแผนที่ที่เน้นเฉพาะในใจกลางโตเกียวอย่างเดียว ก็น่าจะดูงงน้อยลงนะ (เอิ๊ก~)
อย่างแผนที่ด้านบนนี้จะเน้นที่รถไฟใต้ดิน Tokyo Metro และ Toei ส่วนวงกลมของเส้น JR Yamanote Line จะเห็นเป็นเหมือนเส้นประค่ะ โดยทั่วไปแล้วถ้าจะเที่ยวในโตเกียว แนะนำว่าให้ใช้รถไฟใต้ดิน จะครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าเส้น JR ค่ะ
วิธีการมองแผนที่รถไฟในโตเกียวให้ง่าย
1. หาสถานีและสายที่ผ่าน
ก่อนจะมองแผนที่รถไฟ อย่างน้อยสิ่งที่ต้องรู้ คือ สถานีที่จะไปชื่อสถานีอะไร, เป็นรถไฟ JR หรือ Subway, ชื่อสายรถไฟอะไร ซึ่งสามารถจิ้มดูได้จากชื่อสถานีรถไฟใน Google Map เลยค่ะ เช่น สถานี Ueno มีรถไฟ Subway สาย Ginza Line และ Hibiya Line รวมทั้ง JR Yamanote Line และอีกสารพัดสายที่วิ่งผ่าน ถ้ามีหลายสายที่ผ่านก็เลือกมาสัก 1 สายค่ะ
หมายเหตุ :
ถ้าจำไม่ได้ว่าสายไหนเป็นของ JR หรือ Subway ก็ให้สังเกตตัวอักษรประจำสายค่ะ ถ้าเป็นแบบตัวเดียว เช่น G ก็เป็นของ Subway ค่ะ ถ้ามีตัวอักษรสองตัว เช่น JY ก็เป็นของ JR นั่นเอง
2. ดูเส้นทางจากแผนที่รถไฟ
เมื่อได้ชื่อสายรถไฟมาแล้ว ก็ให้ดูชื่อสายที่เขียนกำกับอยู่ที่แผนที่รถไฟเป็นอันดับแรก หาว่าชื่อสายอะไรใช้เส้นสีไหน จากนั้นจึงมองหาชื่อสถานีในแผนที่รถไฟ เช่น Ginza Line ใช้เส้นสีเหลืองส้มๆ ก็มองหาเส้นสีนั้นในแผนที่ แล้วค่อยไล่หาสถานีค่ะ เห็นได้ว่าการมองจะแคบลงมาเหลือเพียงเส้นทางสายเดียว จะมองได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมองทั้งหมด แล้วจะไม่รู้สึกว่ามันยากอีกต่อไปแล้วค่ะ
การหาเส้นทางในการเดินทาง
จะไปที่นี่ ไปอย่างไรดี? หลายคนจะต้องมีคำถามนี้แน่นอน ซึ่งการดูแผนที่รถไฟตามที่แนะนำ ก็สามารถนำไปใช้ในการหาเส้นทางในการเดินทางได้ค่ะ ให้เราดูแผนที่รถไฟจากสถานีต้นทางไปยังปลายทาง
หากอยู่ในสายเดียวแสดงว่านั่งตรงได้เลย แต่หากเป็นคนละสาย ก็ต้องมาเปลี่ยนรถไฟค่ะ ซึ่งจะเปลี่ยนที่สถานีไหน? ก็ให้ดูตรงสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกัน (ถ้าเป็นแค่เส้นทับผ่านเฉยๆ ก็ไม่ได้นะคะ รถไฟไม่ได้จอดค่ะ)
แต่ถ้าหากว่าไม่ถนัดในการหาเส้นทางเอง เราก็สามารถใช้ตัวช่วยได้ค่ะ โดยตรวจสอบเส้นทางได้จาก Google Mapถ้าใช้ hyperdia.com เว็บไซต์จะให้เราใส่สถานีต้นทาง, สถานีปลายทาง, วันและเวลาในการเดินทาง แล้วกด Search จากนั้นก็จะแสดงเส้นทางออกมาให้เราเลยค่ะ
จากตัวอย่างด้านบนจะเห็นได้ว่า Route 1 นั้นใช้เวลาเดินทาง 30 นาที แต่ว่าต้องเปลี่ยนรถไฟถึง 3 ขบวน ส่วน Route 2 จะใช้เวลาเดินทาง 33 นาที ซึ่งช้ากว่าแบบแรกนิดหน่อย และไม่ต้องเปลี่ยนสายเลย แถมราคาก็ถูกกว่า เป็นเพื่อนๆ จะเลือกเส้นทางแบบไหนดีคะ? อิ อิ จากตัวอย่างนี้สรุปได้ว่าให้เลือกใช้เส้นทางที่เราสะดวกค่ะ อย่าเชื่อว่าเส้นทางที่ขึ้นมาเป็นอันแรกนั้นเป็นเส้นทางที่ดีที่สุดนะคะ
การหารถไฟในสถานี
ปัญหาใหญ่หลวงอีกอย่างของนักท่องเที่ยวก็คือ การหาทางไปขึ้นรถไฟ เนื่องจากว่าสายรถไฟมีค่อนข้างเยอะและสถานีรถไฟค่อนข้างใหญ่ ในบางสถานีจะเป็นจุดรวมพลที่ทุกคนจะไปเปลี่ยนสายรถไฟกัน แล้วเราจะไปทางไหนดีละทีนี้?
ดูชื่อสายและสีบนป้ายไงจ้า! จากรูปด้านบนจะเห็นว่ามีสีประจำรถไฟแต่ละสาย เข้าสถานีปุ๊บเห็นชื่อ - สี ครั้งแรกจุดไหนก็ทำการบันทึกความจำทันทีเลยจะดีมาก (ส่วนใหญ่จะเห็นตั้งแต่ผ่านที่ตอกตั๋วเข้าสถานี) พอเราจำสีได้แล้วเดินตามสีลูกเดียวเลยค่ะ
ในส่วนของตัวเลขนั้นจะเป็นหมายเลขชานชาลาค่ะ โดยปกติรถไฟ 1 สาย จะใช้ 2 ชานชาลา ตัวอย่างเช่นในรูปด้านบน แถบสีเขียว ชานชาลาที่ 3 และ 2 จะเป็นสาย JR Yamanote Line ถ้าใครไม่ถนัดจำสี ก็จำหมายเลขชานชาลาได้นะคะ (แต่จะใช้ได้เฉพาะสถานีนั้นๆ เพราะหมายเลขชานชาลาจะแตกต่างกันไปตามสถานี) แนะนำให้จำชื่อสายรถไฟกับสีประจำสายเพราะจะใช้ได้กับทุกสถานี
ตัวอย่างรถไฟในรูปด้านบนนี้เป็นสาย JR Yamanote Line ซึ่งมีสีประจำสายคือสีเขียวอ่อน อ่อนแบบยอดใบตองเลยจ้ะ
ถ้ารถไฟสายเดียวกันมี 2 ชานชาลา แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าควรจะขึ้นชานชาลาเลขไหนกันล่ะ? นี่แหละตัวปัญหาเลย! เพราะไม่มีใครรู้ชื่อปลายทางได้ทุกขบวนหรอก จำยาก ภาษาพูดก็ยาก สารพัดปัญหากับนักท่องเที่ยวต่างชาติในญี่ปุ่นค่ะ
สิ่งที่จะช่วยชีวิตของเราไว้ก็คือ ชื่อสถานีที่รถไฟจะวิ่งผ่าน ซึ่งจะติดอยู่ตรงทางเข้าชานชาลาและป้ายที่อยู่บนชานชาลาเลยค่ะ จากตัวอย่างด้านบนนี้ ตรงแถบสีเขียวนั่นเลย For Harajuku, Shibuya & Shinakawa ชื่อสถานี ประมาณ 3 สถานีจะปรากฎอยู่บนป้าย (หมายเลข 14 นั้นคือหมายเลขชานชาลาค่ะ) และบางสถานีจะไม่ใช่สถานีปลายทางแต่จะเป็นรายชื่อสถานียอดนิยม ที่มีคนใช้เยอะหรือเป็นที่รู้จัก โดยส่วนใหญ่จะเป็น สถานีปลายทาง, สถานีใหญ่ๆ, สถานที่เป็นจุดเปลี่ยนสาย แค่รู้จักสถานีใดสถานีหนึ่งใน 3 สถานีนี้ก็สามารถขึ้นได้โดยไม่หลงแล้วล่ะ ถ้านึกไม่ออกดูได้ด้านล่างเลย!
จากรูปเป็นสาย JR Yamanote Line ซึ่งวิ่งวนรอบโตเกียวเป็นวงกลม ชื่อสถานีตามป้ายด้านบนจะเรียงตามหมายเลข 1, 2, 3 จะทำให้รู้ว่าขบวนนี้วนไปทิศไหน
กรณีตัวอย่าง:
เราอยู่ที่สถานี Shinjuku และกำลังจะขึ้นรถไฟสาย JR Yamanote Line
ชานชาลา 14 เขียนว่า For Harajuku, Shibuya, Shinagawa
ชานชาลา 15 เขียนว่า For Ikebukuro, Ueno
ในกรณีที่อยากไป Sugamo ต้องเลือกชานชาลาที่ 15 (For Ikebukuro, Ueno) เพราะอยู่ในระหว่างทางที่ไป Ueno (นั่งรถในทิศที่ทวนลูกศรตามภาพด้านบน)
ช่วงแรกๆ ในการแยกชานชาลา อาจจะต้องกางแผนที่สายรถไฟดูบ่อยๆ แต่หลังจากจำได้ว่าสถานีที่จะไปอยู่ช่วงไหนของสถานีรถไฟ แค่มองชื่อสถานีใหญ่ๆ ที่จำง่ายๆ มองปราดเดียวก็รู้เลย ไม่ต้องจำสถานีปลายทาง (จำยากจริง) หลักการนี้สามารถใช้ได้กับการขึ้นรถไฟแทบทุกสายเลยล่ะ ถ้าทำจนคล่องแล้ว ไม่ว่าจะไปที่ไหน ไม่มีทางขึ้นผิดฝั่ง ผิดสายแน่นอน!
แล้วถ้าเกิดเราเช็คเส้นทางจาก hyperdia.com แล้วขึ้นมาแบบนี้ ในขณะที่ป้ายในสถานีไม่บอกว่าเป็น Inner Loop หรือ Outer Loop แบบในเว็บไซต์ ก็อย่าเพิ่งเงิบไป เราก็ใช้หลักการดูชานชาลาแบบด้านบนเลยค่ะ คือ ดูว่าสถานีที่เราจะไปนั้นอยู่ในเส้นทางไหน ก็ให้ขึ้นรถไฟจากชานชาลาในเส้นทางนั้น
สำหรับใครที่ไปเที่ยวโตเกียวก็ลองใช้เทคนิคนี้ได้เลย บางครั้งมันอาจจะช่วยเพื่อนๆ ได้มากกว่าที่คาดเอาไว้ เพราะการขึ้นรถไฟผิดในที่ขณะที่ต้องลากกระเป๋าใบโต หรือ เวลารีบๆ ไม่ใช่เรื่องที่น่าพิศมัยเท่าไหร่นัก และท้ายนี้ก็ขอให้เที่ยวโตเกียวอย่างมีความสุขนะคะ สวัสดีค่า
Cr:: japankakkoii.com