“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์


เพชรเม็ดงามริมทะเลบอลติก เมืองเก่า ทาลลินน์ ประเทศเอสโตเนีย พาเราย้อนเวลาหาอดีตไปถึงยุคกลางของยุโรป เก่าแก่แต่มีมนตร์ขลังไปทุกตารางนิ้ว จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แถมยังเปี่ยมไปด้วยสาระประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นแค่ตัวหนังสืออยู่ในตำรา แต่มีชีวิตชีวาราวกับตำนานที่ไม่มีวันตาย

 

ทาลลินน์ในยุคกลาง

พิกัดของเอสโตเนียอยู่ริมทะเลบอลติก เพื่อนบ้านแวดล้อมเต็มไปด้วยพี่เบิ้ม ด้านหนึ่งติดรัสเซีย ด้านหนึ่งใกล้เยอรมนี ส่วนข้ามทะเลไปนิดเดียวเป็นไวกิ้งสแกนดิเนเวีย แม้แต่ในกลุ่มรัฐบอลติก (Baltic States) เอสโตเนียก็เล็กกว่าใครเพื่อนเมื่อเทียบกับลิทัวเนียและ ลัตเวีย

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

ยุคกลางของยุโรป (Middle Ages หรือ Medieval) หมายถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5-15 (หลังโรมันล่มสลายและก่อนเรอเนซองซ์) เราน่าจะคุ้นเคยกับเรื่องราวยุคนี้กันดีจากหนังฝรั่งที่มักจะเต็มไปด้วยสงครามแย่งดินแดน การเผยแผ่ศาสนาคริสต์อย่างเอาเป็นเอาตาย ภาพนักรบโบราณและอัศวินทั้งหลายที่สวมชุดเกราะ อาวุธแบบดั้งเดิมที่ยังไม่มีปืน และกษัตริย์ทั้งหลายต้องเป็นนักรบ

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของทาลลินน์ก็เป็นหนึ่งในฉากนั้นเหมือนกัน ยุคกลางช่วงต้นเอสโตเนียโดนรุกรานจากไวกิ้ง ซึ่งชอบล่องเรือไปหาดินแดนใหม่ๆ หาทรัพยากรเพิ่ม ขยายอาณาจักรและปักธงจับจองเป็นเจ้าของ มรดกที่ไวกิ้งทิ้งไว้ในเมืองเก่าทาลลินน์และกลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญในปัจจุบันคือ ปราสาททูมพี (Toompea Castle)

ซึ่งเป็นทั้งปราสาท ป้อมปราการ หอคอย สวนหย่อนใจ และกำแพงเมือง ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินเขาที่เรียกกันว่า ทูมพีฮิลล์ (Toompea Hill) ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1219 โดยกษัตริย์วาลเดอมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์กที่ชนะสงครามและยึดครองทาลลินน์ อายุของปราสาทถึงวันนี้คือ 799 ปีแล้ว

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

เมื่อมีความเก่าแก่ก็มีตำนานเรื่องเล่ามากมาย หนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง "ผี" บริเวณปราสาททูมพีเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งของชนชั้นสูง การที่เลือกยุทธภูมิบนเนินเขา นอกจากเป็นเรื่องตำราพิชัยสงครามแล้ว ยังเป็นการแยกตัวเองจากชนชั้นล่างอีกด้วย

ในยุคนั้นชนชั้นสูงสร้างกำแพงไว้อย่างแน่นหนา และมีประตูเมืองที่กั้นตัวเองไว้จากชนชั้นล่างอย่างสิ้นเชิง ไม่ต้องการถูกรบกวนและสร้างโลกส่วนตัว นั่นจึงเป็นที่มาของตำนาน "ผีเฝ้าประตู" ผีที่ว่ามีที่มาหลากหลาย บ้างก็ว่าเป็นนักรบที่ชอบประลอง ต่อสู้กันจนตาย นักบวชนอกรีตที่โดนประหาร และบ้างก็เป็นปีศาจนางโลม

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

หนึ่งในเรื่องเล่าคือ หอคอยที่เป็นส่วนหนึ่งของป้อมปราการ มีชื่อว่า หอคอยนางโลม เคยถูกใช้เป็นที่คุมขังโสเภณี เหล่านางบำเรอในหอคอยที่หน้าตาอัปลักษณ์จะร้องขอต่อปีศาจร้าย เพื่อให้นางมีรูปเลอโฉม แต่ข้อแลกเปลี่ยนคือ นางจะถูกพรากจิตวิญญาณไป และต้องทำหน้าที่ยั่วยวนผู้ชายให้ลุ่มหลงมัวเมา อยู่ในกามกิเลสให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และในที่สุดพวกนางก็จะถูกสาปเป็นแม่มดและโดนประหาร ปัจจุบันหอคอยนางโลมแปลงเป็นคาเฟ่สำหรับนักท่องเที่ยว มีรูปปั้นผีปีศาจขนาดใหญ่ชวนหลอนอยู่ตามประตู และเนินทูมพีก็กลายเป็นสถานที่อาถรรพ์ที่สุดของทาลลินน์

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

สงครามศาสนา & เศรษฐกิจหรรษา... ที่มาของเมืองเก่า

กลับมาที่ประวัติศาสตร์กันต่อ ช่วงยุคกลางของทาลลินน์ยังเต็มไปด้วยสงครามศาสนาเช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป เพราะยุโรปกลางมองคนยุโรปเหนือว่าเป็นพวกนอกรีต นับถือภูตผีและไม่มีศาสนา จึงต้องการให้ทุกคนหันมานับถือคริสต์นิกายคาทอลิก

โบสถ์คาทอลิกเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในทาลลินน์คือ โบสถ์เซนต์โอลาฟ (St. Olaf's Church) สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับกษัตริย์โอลาฟที่ 2 แห่งนอร์เวย์ และเป็นศูนย์รวมใจยุคกลางอยู่นานหลายร้อยปี จนกระทั่งรัสเซียรุกรานและเปลี่ยนให้โบสถ์นี้กลายเป็นนิกายลูเทอรันถึงปัจจุบัน อิทธิพลทางศาสนาในทาลลินน์ นอกจากกลุ่มไวกิ้งสแกนดิเนเวียแล้ว ยังได้อิทธิพลจากชาวเยอรมันด้วย ในฐานะผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

ดินแดนแถบทะเลบอลติกกินพื้นที่ลากยาวไปตามแนวทะเล ครอบคลุมหลายประเทศ ซึ่งในยุคกลางยังไม่ได้เป็นแผนที่แบ่งประเทศแบบในปัจจุบัน แต่เรียกรวมว่า Hanseatic League หรือเรียกสั้นๆ ว่า Hansa (เป็นภาษาเยอรมันโบราณ) ทาลลินน์เป็นเมืองที่สำคัญมากเมืองหนึ่งในกลุ่ม Hansa เพราะทำเลดี ติดทะเล จึงเป็นศูนย์กลางของการค้าขายที่คึกคักและเจริญรุ่งเรืองมากในยุคนั้น และเศรษฐกิจหรรษาของ Hansa นี่เองที่เป็นต้นกำเนิดการสร้างเมืองเก่า (Old Town) ของทาลลินน์ทั้งหมด

เมืองเก่าของทาลลินน์จึงเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างโบราณยุคกลาง ใช้หินก้อนใหญ่ปูถนน ตรอกซอกซอยทางเดินแคบๆ กำแพง และอาคารบ้านเรือน มีความงามทางสถาปัตยกรรมพร้อมความสมบูรณ์และแข็งแรง สะท้อนถึงยุครุ่งเรืองได้เป็นอย่างดี ภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนน่าทึ่งจริงๆ ที่ทิ้งมรดกสำคัญไว้ให้รุ่นลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

จุดเริ่มสำรวจเมืองเก่าทาลลินน์อยู่ที่จัตุรัสศาลากลางเมือง (Town Hall Square) ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1371 รายล้อมด้วยโบสถ์ ศาลาเมือง ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ และร้านอาหารมากมายที่เป็น Thematic Restaurant คือใส่ความเป็นยุคกลางเข้าไปเต็มที่ ตั้งแต่ชื่อร้าน การตกแต่ง บรรยากาศภายใน การแสดงโชว์ต่างๆ และเมนูอาหาร เครื่องดื่ม ร้านดังๆ ยอดนิยม อาทิ Olde Hansa และ III Draakon ตั้งแต่ก้าวแรกก็เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในยุคกลาง บรรยากาศชวนเคลิ้มไปทุกกระเบียดนิ้ว เรียกว่าห้ามพลาดเด็ดขาดสำหรับนักท่องเที่ยว ต้องไปสัมผัสกันด้วยตัวเองสักครั้ง

 ยุคกลางตอนปลายกับการมาของรัสเซีย

ในช่วงปลายยุคกลางทาลลินน์เริ่มโดนรัสเซียรุกราน และถูกเปลี่ยนมือไปมาระหว่างรัสเซียกับสวีเดน จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ. 1721-1918 ทาลลินน์ก็ตกเป็นของรัสเซียอย่างสิ้นเชิง ช่วงนี้เองที่ทำให้สถาปัตยกรรมแบบรัสเซียเข้ามามีบทบาทในทาลลินน์ มหาวิหารอเล็กซานเดอร์ เนฟสกี้ (Alexander Nevsky Cathedral) เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ยอดโบสถ์รูปทรงหัวหอมแบบรัสเซีย สะท้อนความเป็นโบสถ์คริสต์นิกายลูเทอรัน และโบสถ์คาทอลิกเดิมก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นลูเทอรันด้วย

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

ทาลลินน์และเอสโตเนียถูกโยนไปมาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน แต่การสู้รบทางการเมืองก็ยังไม่จบสิ้น เอสโตเนียได้ประกาศอิสรภาพเป็นชาติเอกราชอยู่ช่วงเวลาหนึ่งในปี ค.ศ. 1918-1939 น่าจะเป็น 21 ปีแห่งความภูมิใจ หลังจากนั้นก็ตกไปอยู่ในมือสหภาพโซเวียตอีกครั้ง

“ทาลลินน์ เอสโตเนีย” ดินแดนมนตร์ขลังแห่งประวัติศาสตร์

วันนี้ทาลลินน์และเอสโตเนียเป็นอิสระโดยสมบูรณ์แล้ว เพราะสหภาพโซเวียตล่มสลายตามเรื่องราวประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่รู้ๆ กัน กว่าจะถึงวันนี้ทาลลินน์ผ่านช่วงเวลายุ่งเหยิงมามากมาย บอบช้ำไม่ใช่น้อย แต่ความรุ่งเรืองในอดีตและความสวยงามของยุคกลางก็ยังคงฉายแสงให้ทาลลินน์งดงามเสมอ

 

ที่มา : นิตยสารแพรว ฉบับ 938

เครดิตแหล่งข้อมูล : praew.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์